• login
  • register
  • How to
  • product
  • game pc
  • Promotion

Flash banner right

7 เหตุผลสุดแปลกที่เกมถอนออกจากร้านค้า Steam

 ร้านขายเกมแต่ละแพลตฟอร์มได้มีกฎ Guideline ต่าง ๆ ที่นักพัฒนาและตัวแทนจำหน่ายเกมต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เกมของพวกเขาสามารถวางจำหน่ายได้ และสร้างความมั่นใจว่าเกมที่วางขายบนร้านค้าล้วนมีคุณภาพน่าเชื่อถือ ซึ่งแน่นอนว่าเกมส่วนใหญ่ที่โดนถอดออกจากแพลตฟอร์ม มักจะกระทำความผิดด้วยการละเมิดกฎหลายครั้ง แต่นี่ 7 เหตุผลสุดแปลกที่เกมได้ถอนออกจากร้านค้า Steam ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และจะมีอะไรบ้าง ก็สามารถเข้าไปอ่านในบทความได้เลย

 

ถอดเกมออกจากร้านค้า เพราะคุณภาพออกมาน่าผิดหวัง

Afro Samurai 2: The Revenge of Kuma เป็นเกมแอ็กชัน Interactive เน้นเนื้อเรื่อง ที่ดัดแปลงมาจากซีรีส์แอนิเมชันในชื่อเรื่องเดียว โดย Episode 1 ออกวางจำหน่ายในปี 2015 แต่อย่างไรก็ตาม เกมดังกล่าวมีกระแสตอบรับไม่ค่อยดี และทำยอดขายค่อนข้างน่าผิดหวัง ทำให้เส้นทางอนาคตของเกมดังกล่าวไม่ค่อยสวยหรู

อย่างไรก็ตาม แทนที่ทีมพัฒนาจะเดินหน้าพัฒนาเกม Episode ต่อไป พร้อมปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้น แต่สุดท้าย ทีมงานตัดสินใจระงับการขายเกม Afro Samurai 2: The Revenge of Kuma ผ่าน Steam, คืนเงินให้ผู้ซื้อทุกคน พร้อมยุติการพัฒนาเกมแบบถาวร โดย Steve Escalante ผู้จัดการทีมพัฒนาเกม Versus Evil ได้ให้สาเหตุที่หยุดขายเกมดังกล่าว เป็นเพราะ “ตัวเกมประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า” และแฟน ๆ หลายคนมีความคิดเห็นตรงกันคือ “ไม่ชื่นชอบเกมนี้” สักเท่าไหร่นัก

เกมโดนถอดออกจากร้านค้า เพราะเนื้อหาโป๊เปลือย

ในปี 2017 เกม Early Access นามว่า House Party ซึ่งเป็นเกมที่มีเนื้อหาเพศอย่างโจ่งแจ้ง ได้ถูกแบนการวางจำหน่ายใน Steam หลังโดนเรียกร้องหลายครั้งว่ามี “ภาพอนาจาร” มากเกินไป รวมถึงเกมอนิเมะที่มีเนื้อหาโป๊เปลือยอย่าง HuniePot กับ Mutiny!! ก็โดนแจ้งเตือนจาก Steam ว่าให้ทำการเซนเซอร์เนื้อหาบางส่วน มิฉะนั้นตัวเกมจะโดนถอดออกจากร้านค้า

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกมเมอร์หลายคนออกมาแสดงความไม่พอใจต่อ Valve หลังจากนักพัฒนาเกมได้เขียนจดหมายเปิดผนึก วิจารณ์ Steam ว่ากฎ Guideline สำหรับการวางจำหน่ายเกมที่มีเนื้อหาโป๊เปลือยผ่าน Steam นั้น “ขาดความชัดเจน และไม่มีความสอดคล้องกัน”

อย่างไรก็ตาม Valve ได้ทำการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ด้วยการประกาศใช้นโยบายใหม่ เป็นการปล่อยเสรีให้นักพัฒนาสามารถวางจำหน่ายเกมได้ (เกือบ) ทุกเนื้อหา พร้อมเปิดฟีเจอร์ใหม่ให้ร้านค้าทำการคัดกรองเกมที่มีเนื้อหาเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้เกม 18+ ได้โชว์บนหน้าต่างอย่างโจ่งแจ้ง แต่ Steam จะยังคงแบนเกมที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการ “ก่อกวน” ต่อไป

ทีมงานถอดเกมออกจากร้านค้า เพราะงบสร้างเกมหมด

Under The Ocean ถือเป็นเกมอินดี้ยุคแรกที่เปิดตัวในฐานะ Early Access หรือเกมระหว่างการพัฒนา ที่เปิดให้เกมเมอร์สามารถซื้อเพื่อทำการทดลองเล่นล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 ทีมงานได้ตัดสินใจงดขายเกม Under The Ocean เป็นเวลาชั่วคราว เนื่องจากเผชิญหน้ากับปัญหาต้นทุนในการสร้างเกมหมด และปัญหาการเมืองภายในทีมพัฒนา

แม้ทีมงานสัญญาว่า Under the Ocean จะกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง หาก “ตัวเกมมีความพร้อมแล้ว” และจะมอบเงินให้กับเกมเมอร์ที่ต้องการคืนสินค้า แต่ทุกวันนี้ เกมดังกล่าวยังไม่ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ รวมถึงนักพัฒนาเกมยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าตัวเกมจะพัฒนาเสร็จสิ้นตอนไหน

Steam ลงดาบถอนเกมออกจากร้านค้า หลังพบมีการปั่นรีวิว

การปั่นรีวิวผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย และเห็นได้เป็นประจำผ่านร้านค้าออนไลน์หลายแห่ง แต่ Steam จะไม่ยอมปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มตัวเองเป็นอันขาด

ในปี 2018 ทาง Valve ได้มีการลงดาบทีมพัฒนาเกม Acram Digital’s board game ด้วยการถอนเกม Eight-Minute Empire และ Rails to Riches ออกจากร้านค้า หลังตรวจสอบพบว่ามีการปั่นเขียนรีวิวปลอมเพื่อเปลี่ยนบทวิจารณ์เกมทั้งหมดจาก “แง่ลบ” กลายเป็น “แง่บวก”

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว Grzegorz Kubas หนึ่งในพนักงานของ Acram Digital’s board game ได้ออกมาขอโทษด้วยการประกาศมอบตัวว่าเขาคือผู้ปั่นรีวิวเกมของตัวเอง พร้อมกล่าวสำนึกผิดที่ได้กระทำสิ่งที่โง่เขลาลงไปโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา และอย่ากล่าวโทษนักพัฒนาเกมทั้งหมด แต่ให้โทษแต่เขาเพียงผู้เดียว

173 เกมโดนแบนจาก Steam หลังตรวจสอบพบเป็นเกมเข้าข่ายปั๊ม Trading Card

 

ก่อนมีการประกาศใช้นโยบายปล่อยเสรี ให้นักพัฒนาสามารถวางจำหน่ายเกมได้เกือบทุกเนื้อหาโดยไม่มีการปิดกั้น ทาง Valve ได้มีการตรวจสอบร้านค้าเบื้องต้น พบว่ามีเกมทั้งหมด 173 เกมที่พัฒนาโดยคนเดียวกัน แล้วจากการสืบสวนแบบลงลึก จึงรู้ว่า 173 เกมนั้นมีการ์ด Steam และเกมส่วนใหญ่เป็นเกม Puzzle คุณภาพต่ำที่โคลนหรือลอกเลียนแบบมาจากเกมหลายเกม

ทาง Valve จึงทำการแบนเกมทั้งหมด 173 เกม เพราะเชื่อว่าเกมเหล่านั้นถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการปั๊ม Trading Card แล้วนำไปวางจำหน่ายด้วยเงินจริงผ่านตลาด Steam Market ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากปล่อยให้ 173 เกมวางจำหน่ายต่อไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจใน Steam Market อย่างร้ายแรงได้

Devotion งดวางจำหน่ายใน Steam เพราะทนกระแสต่อต้านจากเกมเมอร์ชาวจีนไม่ไหว

Devotion เป็นเกมสยองขวัญที่เคยออกวางจำหน่ายบน Steam เมื่อช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา แม้เกมดังกล่าวมีกระแสตอบรับค่อนข้างดี แต่ต่อมา เกมดังกล่าวโดนถล่มรีวิวบอมบ์อย่างรุนแรงจากผู้เล่นชาวจีนหลายคน หลังพบว่าในเกมมีการสอดแทรกเนื้อหาล้อเลียนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วยการใช้ Winnie The Pooh เป็น Easter Egg (Winnie The Pooh โดนแบนในประเทศจีน เมื่อปี 2013 เนื่องจากชาวเน็ตนำหมีพูห์ไปเปรียบเทียบล้อเลียนว่าเป็นสี จิ้นผิง)

แม้ Devotion โดนแบนในประเทศจีน แต่สุดท้ายตัวเกมสามารถกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งผ่านเว็บไซต์ของตนเอง พร้อมตัวเกมได้โดนบรรจุในหอสมุดของมหาวิทยาลัย Harvard-Yenching ในประเทศสหรัฐฯ อีกด้วย

นักพัฒนาเกมขู่ฆ่า Gabe Newell

เกมอินดี้ Paranautical Activity ถูกถอดออกจากหน้าร้านค้า Steam ในปี 2014 หลังจากผู้สร้างเกม Mike Maulbeck ได้ส่งจดหมายขู่ฆ่าไปถึง Gabe Newell ซึ่งเป็นประธานของบริษัท Valve หลังจาก Steam ไม่อนุมัติให้ปล่อยอัปเดตเพิ่มเนื้อหาใหม่ของเกมดังกล่าวในช่วง Early Access พร้อมวิจารณ์อย่างรุนแรงด้วยการด่าทอว่า Steam เป็นแพลตฟอร์มที่ “ผูกขาด”

Doug Lombardi หนึ่งในพนักงาน Valve ยืนยันกับ Polygon ว่าสาเหตุที่เกม Paranautical Activity ถูกตัดออกจากร้านค้า Steam เพราะนักพัฒนาเกมทำตัวไม่เหมาะสม และไม่สามารถยอมรับกับพฤติกรรมรุนแรงด้วยการขู่ฆ่าได้ ซึ่งต่อมาทาง Maulbeck ได้ประกาศลาออกจากบริษัท เพื่อรับผิดชอบการกระทำดังกล่าว (และเข้าร่วมใหม่อีกครั้ง) โดยตอนนี้ Paranautical Activity ได้กลับมาวางจำหน่ายผ่าน Steam ตามปกติแล้ว

 

0 item total: 0 บาท